พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ ประกัน พ.ร.บ. คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง

Last update:2023-02-12

ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เจ้าของรถ ที่มีชื่อในเล่มทะเบียนรถยนต์หรือผู้ครอบครองรถในกรณีเป็นผู้เช่าซื้อรถ และต้องต่ออายุในทุกๆ ปี นอกจากเป็นประกันภาคบังคับที่ผู้ใช้รถต้องทำอยู่แล้ว พ.ร.บ.รถยนต์ ยังเป็น 1 ในหลักฐานที่จำเป็นต่อการต่อภาษีรถยนต์ในทุก ๆ ปี ในกรณีที่ไม่ทำจะถือว่าทำผิดกฎหมาย ใจความสำคัญของประกัน พ.ร.บ. ก็คือ ต้องการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากการใช้รถ โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายผิด หรือถูก หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายก็จะได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ นอกจากรถยนต์ที่ต้องทำและต่ออายุประกัน พ.ร.บ.ทุกปี ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ รถบรรทุก ต่างก็ต้องทำ พ.ร.บ. ด้วยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งอัตราเบี้ยประกันภาคบังคับ จะเป็นอัตราเบี้ยคงที่ ไม่มีการเพิ่ม แต่ราคาจะแตกต่างกันไปตามประเภทและขนาดของรถ



พ.ร.บ. คุ้มครองอะไรบ้าง


ในกรณีที่เกิดเหตุความเสียหายขึ้นกับรถที่ทำประกัน พ.ร.บ. ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้


  • 1.คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น โดยหลังจากเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ จะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ ค่าเสียหายในกรณีทุพพลภาพ และเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด โดยบริษัทประกันจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน นับจากวันที่บริษัทได้รับคำร้องขอให้บริษัทชดเชยในความเสียหายจากผู้ประสบภัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
    • กรณีบาดเจ็บ ผู้ประสบภัยจะได้รับชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน
    • กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร บริษัทประกันจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท/คน
    • กรณีเสียชีวิต ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท/คน

  • 2.คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าเสียหายหลังจากที่พิสูจน์แล้วว่าผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูก โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามมูลรายละเอียดดังต่อไปนี้
    • กรณีได้รับบาดเจ็บ ผู้ประสบภัยจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจริง (มีหลักฐานการชำระเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน) แต่ไม่เกิน 80,000 บาท/คน
    • กรณีเสียชีวิต ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/คน
    • กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าทดแทน เป็นจำนวนเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 - 500,000 บาท/คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดที่สูญเสียอวัยวะและเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด
    • ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในฐานะ “ผู้ป่วยใน” ภายในสถานพยาบาล ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน


พ.ร.บ. รถแต่ละประเภทราคาเท่าไหร่

  • รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน เบี้ยประกัน พ.ร.บ. = 645.21 บาท/ปี
  • รถกระบะน้ำหนักไม่เกิน 3 ตัน เบี้ย พ.ร.บ. = 967.28 บาท/ปี
  • รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง = 1,182.35 บาท/ปี

สำหรับเบี้ยประกัน พ.ร.บ. เป็นอัตราเบี้ยแบบคงที่ ไม่ว่าคุณจะเคยประสบอุบัติเหตุหรือเคยเบิกเคลมแล้วกี่ครั้งหรือไม่เคยประสบหรือไม่เคยเบิกเลยก็ตาม เบี้ยประกัน พ.ร.บ. ก็จะยังเท่าเดิม ทั้งนี้ ค่าเบี้ยจะขึ้นอยู่กับประเภทรถและขนาดของรถ โดยค่าเบี้ยที่ระบุด้านล่างนี้ได้รวมค่าอากรแสตมป์ และภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เรียบร้อยแล้ว


สามารถซื้อประกัน พ.ร.บ. ล่วงหน้าได้ไหม

ได้เฉพาะกรณีต่ออายุประกัน พ.ร.บ. เท่านั้น โดยสามารถซื้อล่วงหน้าได้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน


ถ้าไม่ทำประกัน พ.ร.บ. จะมีโทษ หรือโดนปรับไหม

แน่นอนว่าประกัน พ.ร.บ. นั้นเป็นประกันภาคบังคับ หากไม่ทำมีโทษเป็นค่าปรับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กรณีเจ้าของรถไม่ทำประกัน พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • กรณีคนที่ไม่ใช่เจ้าของรถ ขับขี่รถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุประกัน พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • กรณีที่เป็นเจ้าของรถไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นไปใช้ ถือว่าผิดทั้ง 2 กระทง มีโทษปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท
Back to home